รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลุ่มจังหวัดสบายดี เพื่อหารือการจัดทำร่างข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสนอต่อที่ประชุม ครม. สัญจร และตรวจราชการ ณ จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2561 โดยเฉพาะโครงการท่าเรือบกนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
วันนี้ (19พ.ย.61) ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเพื่อสรุปร่างข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี
ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย และหนองบัวลำภู โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย1 ร่วมประชุม
กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้มีการจัดเตรียมข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยให้ประธานกลุ่มจังหวัดเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือ เพื่อจัดทำและสรุปร่างข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและกลุ่มจังหวัดฯเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร และตรวจราชการ ณ จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2561
โดยที่ประชุมได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาและให้ความเห็น พิจารณาข้อเสนอที่มีความสำคัญสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และมีความเชื่อมโยงกับแผนงาน โครงการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งแผนงาน โครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้วหรือระหว่างดำเนินการ ในประเด็นการพัฒนาแต่ละด้าน ประกอบด้วย ด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า การลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเกษตร ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านอื่นๆ
โดยเฉพาะขอรับการสนับสนุนศึกษาความเหมาะสม โครงการท่าเรือบก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อุดรธานี และขอรับการสนับสนุนจังหวัดอุดรธานี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ เพราะห่างจากชายแดนประมาณ 50 ก.ม.อุดรธานี มีนิคมอุตสาหกรรม ก็จะเป็นการจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนที่จังหวัดอุดรธานี ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะเป็นนิคมแห่งแรกของภาคอีสาน ที่สร้างงานสร้ายรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของหมู่เฮาชาวอีสาน คาดว่าจะมีโรงงานเข้ามาตั้งประมาณ 80-100 โรงงาน มีการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 20,000 อัตรา อีกทั้งจะมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมาก ตั้งอยู่รอบนิคมฯ เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง จะมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน
ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีการเติบโตยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่จะให้เป็น ไทยแลนด์ 4.0